No products in the cart.
INSTRUMENTAL MUSIC ซึมซับร้อยเรื่องราว โดยปราศจากคำบอกเล่า
INSTRUMENTAL MUSIC ซึมซับร้อยเรื่องราว โดยปราศจากคำบอกเล่า
ตัวผู้เขียนเองหัวเราะเเห้งๆและรู้สึกน้อยใจทุกครั้งที่เปิดเพลงของตัวผู้เขียนเองให้เพื่อนพ่อแม่พี่น้องญาติสนิทหรือบรรดาคนรู้จักที่ไม่ได้ทำงาน หรือ ใช้ชีวิตเกี่ยวข้องกับดนตรีเป็นปกติประจำ เป็นบุคคลที่ใช้ชีวิตธรรมดาทั่วไปตาม preset ที่สังคมในบ้านเราเป็นตัวกำหนดประโยคที่มักจะได้ยินเสมอๆในครั้งแรกที่ฟังเค้ามักจะพูดว่า “เมื่อไรมึงจะร้อง?” , “เมื่อไรจะถึงท่อนร้อง?” , “ทำไมอินโทรมันนานจังวะ?” , “นี่มึงไม่ร้องเลยหรอ?” , “ทำเพลงเเบบนี้เมื่อไรจะดัง!” บลา บลา บลา
“ซีนดนตรีที่เขาว่าลึกไม่สแนปรักปักใจชอบต่อคนหมู่มาก”
จากประสบการณ์ส่วนตัวทำให้ผู้เขียนต้องวนกลับไปหาคำตอบและหาเหตุผล หาที่มา (ที่พอจะรู้อยู่บ้าง) มา remind ให้ตัวผู้เขียนเข้าใจและยอมรับในสิ่งที่เป็นอยู่ในสังคมบ้านเรา
เข้าเรื่องกันดีกว่า คำว่า“instrumental music” แปลตรงตัวมันก็คือดนตรีเปล่าๆดนตรีบรรเลง ที่ไม่มีเสียงร้องนั่นแหละครับ
หรือบางเพลง อาจจะมีเสียงร้องอยู่บ้างแต่ไม่เยอะทั้งเพลง ไม่ได้มาเป็นไลน์หลักบ้างครั้งมีเพียงแค่ 3-4 ประโยคอาจจะเป็นความต้องการของตัวศิลปิน
นั่นก็อาจจะตีซะว่าให้เสียงร้องเป็นเครื่องดนตรีอีกชิ้นหนึ่งเพื่อเป็นบรรยากาศร่วมไปในเพลง จะเห็นได้ว่าดนตรีแนวนี้ถูกประพันธ์ขึ้นอย่างมีที่มาที่ไปเป็นงานศิลปะแขนงนึงที่มีจุดประสงค์ให้ผู้ฟังได้ตีความด้วยปัจจัยในแต่ละบุคคลที่ได้เสพย์งานจากท่วงทำนองที่ตัวศิลปินเค้าจะสื่อสารออกมาซึ่งมันถูกคิดและตีความมาแล้วจากตัวศิลปินและสิ่งที่น่าแปลกใจคือ เพลงเหล่านี้กลับถูกตีความใหม่จากผู้ฟังอยู่เสมอและนั่นก็อาจจะเป็นจุดประสงค์หลักของศิลปินที่ผลิตผลงานประเภทนี้ออกมาเช่นกัน
บางท่านรู้กันอยู่แล้วว่าดนตรีประเภทนี้มีมาอย่างยาวนานอยู่คู่กับมนุษยชาติแต่ตั้งมนุษย์รู้จักความและเราเรียกมันว่า “ ดนตรี “ ยกตัวอย่างง่ายๆอย่างพวกดนตรีคลาสสิคตั้งแต่สมัยยุคกลาง (Medieval or Middle Age) ที่ได้รับอิทธิพลจากยุคกรีกโรมันจนกระทั้งผ่านยุคเรเนสซองส์ (Renaissance) , ยุคบาโรค (Baroque), ยุคโรแมนติก(Romantic) ,ดนตรียุคอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism), ยุคศตวรรษที่ 20 (20th Century Music) ทำให้เรารับรู้ได้ว่า ดนตรีมีการวิวัฒนาการมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบันเรียกได้ว่าอยู่คู่มนุษยชาติมาอย่างยาวนานจริงๆ
หันกลับมามองในบ้านเรา
ด้วยความคิดเห็นของผู้เขียนมองว่าประวัติศาสตร์ดนตรีพื้นบ้านดั่งเดิมในบ้านเรานั้น รากของดนตรีมาจากการขับร้อง–ฟ้อนรำซะเป็นส่วนมากมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ด้วยฐานที่ว่าเพื่อผ่อนคลาย เข้าใจง่าย ลึกซึ้ง ไม่ต้องตีความเน้นสนุกสนานและเข้าถึงได้ง่ายในชีวิตประจำไม่ต้องมีพิธีรีตรองมากเหมือนอย่างคนฝั่งชาวตะวันตกเพราะคนภูมิภาคบ้านเราสมัยก่อนยังมีสิ่งอื่นๆที่จำเป็นต้องทำเพื่อประกอบการเลี้ยงชีพต่างๆนาๆมาจนถึงยุค boomer พ่อแม่ปู่ย่าของเรา(ยุคหลังสงครามโลก) จึงไม่ค่อยเเปลกใจเท่าไรที่คนยุคนี้ ไม่ค่อยนิยมกับเพลงบรรเลงเท่าที่ควรนัก อาจจะเป็นเรื่องสื่อด้วย ที่สมัยนั้น ยังยากที่จะเข้าถึงผลงานของตัวศิลปินแนวนี้หรืออีกในแง่มุมนึงดนตรีบรรเลงในบ้านเรามักจะใช้ร่วมกับการประกอบพีธีกรรมทางศาสนาพีธีกรรมในวาระพิเศษต่างๆ หรือบรรเลงเพื่อถวายผู้ที่มียศฐาบรรดาศักดิ์ เช่น วงปี่พาทย์ , แตรวง , วงมโหรี ซึ่งชาวบ้านปกติอาจจะมองว่าเป็นสิ่งที่ไกลตัว ในชีวิตประจำวันในสมัยนั้นมีข้อมูลบางอย่างที่น่าขบคิดอยู่อีกเช่นกัน อย่างเช่น ที่ผู้ผลิตเพลงรายใหญ่ๆในบ้านเรา ณ ปัจจุบันได้ตัดความจำเป็นบางอย่างออกในสื่อที่เราเรียกว่าอัลบั้มหรือซิงเกิลเวลาที่เราซื้อเทปหรือซีดีของศิลปินเมืองนอกบางวง (โดยเฉพาะศิลปินจากฝั่งประเทศญี่ปุ่น) ส่วนมาก จะมี “instrument track”บรรจุอยู่ในอัลบั้ม หรือ ซิงเกิลนั้นๆด้วยซึ่งต่างกับบ้านเราที่แถบจะไม่มีให้เห็นเลยอันนี้ตัวผู้เขียนก็สงสัยเหมือนกันว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้ หรืออาจจะมองว่าเป็นเรื่องงบประมาณในส่วนที่สิ้นเปลืองไร้ประโยชน์เพราะยังไงคนไทยก็ไม่ฟัง “intrumental”
มาพูดถึงแนวดนตรีที่อยู่ในจักรวาลของคำว่า “INSTRUMENTAL MUSIC” กันบ้าง
ถ้ากล่าวมาเเบบนี้ในปัจจุบัน สายเสพย์ดนตรี คงนึกถึงแนว Post-rock มาเป็นอันดับแรกๆอย่างหนีไม่พ้น ใช่ครับ แนว Post-rock คือแนวที่ใช้เครื่องดนตรีเล่าเรื่องสื่ออารมณ์ที่โคตรจะโจ่งแจ้งและยึด Motif ของทำนองดนตรีเป็นที่ตั้งให้ดำเนินเรื่องราวที่จะสื่อสารกับผู้ฟังราวกับพู่กันที่กำลังบรรเลงสีลงไปในกระดาษวงดนตรีแนวที่มีชื่อเสียงระดับโลกก็จะมี “Mogwai” , “Sigur Ros” , ” Bark Psychosis” , “Explosion in the Sky” , “mono” , “toe” , “Slint” , “Hammock” และอีกโคตรจะมากมายและแนวดนตรีที่ถัดมาจาก Post-rock ของหนีไม่พ้น ดนตรี Electronic ซึ่งเป็นจักรวาลเเยกที่ใหญ่มากๆเช่นกัน เราขอยังไม่พูดถึงศิลปินเพราะหลายๆท่านคงจะทราบกันดี ว่าดนตรี Electronic นั้น มีความเป็นดนตรีบรรเลงที่ชัดเจนแขนงหนึ่ง จริงๆแล้วยังมีอีกหลายๆแนวดนตรีที่อยู่ในจำพวก instrumental musicเอาไว้เราจะมาเหลาให้ฟังกันใน ep อื่นอีกครั้งนะครับเราขอพูดถึงวงดนตรีในบ้านเราที่เป็นวง Instrumental กันหน่อย อาทิเช่น . “INSPIRATIVE” , “HOPE THE FLOWER” , “วิมุตติ” , “DCNXTR” , “The Neuter Lover” , “Faustus” , “January” , “Soshite Horror” , “The Paradise Bangkok Molam International Band” และอีกไม่น้อยเลยที่ผู้เขียนไม่ได้กล่าว…ขอบอกเลยว่าในบรรดาวงที่กล่าวมานั้นหลายๆวงไปทัวร์คอนเสิร์ตต่างประเทศกันเป็นว่าเล่น ทั้งๆที่บางคนในบ้านเรา ยังไม่รู้จักหรือเคยฟังด้วยซ้ำ แสดงให้เห็นถึงกลุ่มผู้เสพย์ที่ยังเฉพาะกลุ่มอยู่ในบ้านเรา ณ ขณะนี้เชื่อว่าในยุคปัจจุบันนี้เราสามารถเข้าถึงสื่อเข้าถึงงานศิลปะกันง่ายมากขึ้นเพียงปลายนิ้วยังมีผลงานอีกมากมายที่เรายังไม่ได้เสพย์มันแต่เเค่เพียงคุณลองเปิดใจคุณจะพบโลกใหม่ที่คุณไม่เคยสัมผัสมาก่อน หลายๆคนที่เคยได้ลองฟังในหลายๆงานที่เราได้จัดขึ้น เขาอาจจะเพียงพูดเพื่อเป็นกำลังใจต่อเราไว้ว่า“อย่าเลิกจัดงานสาย postrock นะเพราะมันเยียวยาผมจริงๆ” ซึ่งคำพูดเหล่านี้มันมีความหมายต่อพวกเราจริงๆ